A model for the 21st century newsroom (Thai Translation)

Joining the Spanish and Russian translations of the Model for a 21st Century Newsroom is this version in Thai. Many thanks to Sakulsri Srisaracam:

(แปลเป็นภาษาไทยโดยอ.สกุลศรี ศรีสารคามจาก Blog onlinejournalismblog.com ของ Paul Bradshaw)

ธรรมชาติของสื่อออนไลน์ที่สำคัญคือ มีความเร็ว (Speed) นักข่าวสามารถเผยแพร่ รายงานข่าวผ่านเครื่องมือบนอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีมือถือที่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่เคยเป็นแชมป์ในเรื่องนี้ ความเร็วที่ทำได้ทันที จากทุกที่ ทุกมุมทำให้รูปแบบการรับสาร การส่งสาร และความต้องการข่าวสารของผู้บริโภคต่างไปจากเดิม

ในขณะเดียวกันก็สามารถให้ “มิติเชิงลึก” ได้ผ่านการใช้สื่อออนไลน์ ที่สำคัญคือพื้นที่ที่ไม่จำกัด (unlimited space) บนพื้นที่เว็บไซต์นั้น ทำให้สามารถนำเสนอเนื้อหาที่มากกว่าพื้นที่ของหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ผนวกกับลักษณะของการมี Hyperlink หรือการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้สามารถเชื่อมต่อไปยังข้อมูลเพิ่มเติม หรือ ดึงข้อมูลอื่นๆ มาใช้ในงานที่เผยแพร่ได้ ทำให้การสื่อสารบนโลกออนไลน์ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ ความสามารถรองรับการทำสื่อแบบ Multimedia ทำให้รูปแบบวิธีการในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทำได้หลากหลายมากขึ้น จากลักษณะเหล่านี้ ทำให้สื่อออนไลน์สามารถช่วงชิงแชมป์ความลึกและกว้างของเนื้อหาจากแชมป์เก่าอย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสารมาครองได้

นอกจากนั้นลักษณะสำคัญที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ (Interactivity) สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร จะทำให้เกิดความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ ในกระบวนการข่าวนำไปสู่มุมมอง และเนื้อหาข่าวที่หลากหลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน

Paul Bradshaw เสนอรูปแบบ (Model) ของกองบรรรณาธิการข่าวยุคศตวรรษที่ 21 ที่สะท้อนการทำงานในกระบวนการข่าวในมิติ “เร็ว” และ “ลึก” ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

Paul Bradshaw บอกว่า กระบวนการทำข่าวแบบใหม่นี้ ต้องให้ความสำคัญใน 2 มิติคือ มิติเร็ว และ มิติความลึก ซึ่งเป็นศักยภาพ 2 ส่วนของสื่อออนไลน์ที่ควรถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

กระบวนการในโมเดลที่เห็นข้างต้นนั้นเสนอให้เห็นว่าข่าวสามารถถูกนำเสนอผ่านช่องทางและสื่อต่างๆ ภายใต้ Converged Newsroom จากขั้นตอนเร็ว (Speed) ไปจนถึงความลึก (Depth) โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. Alert (การเตือนให้ทราบ) ขั้นตอนนี้เริ่มทันทีเมื่อนักข่าว หรือ บรรณาธิการทราบข้อมูลของข่าวที่เกิดขึ้น ก็จะมีการส่งข่าวสั้นๆ ออกไปให้ผู้รับสาร โดยอาจใช้ช่องทางผ่านมือถือ Blackberry หรือ labtop ที่เชื่อมต่อ wifi ผู้สมัครสมาชิกติดตามข่าวสารได้รับข้อความเตือนให้ทราบว่ามีเหตุการณ์หรือข่าวเกิดขึ้นในรูปแบบของข้อความ (text) อีเมลล์ ข้อความทาง twitter หรือ facebook feed ซึ่งสามารถทำได้ทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นหรือเมื่อผู้สื่อข่าว/บก.ได้รับข้อมูลข่าว การทำทันทีนี้เป็นการประกาศว่านักข่าว/บก.คนนั้นเป็นเจ้าของข้อมูลข่าว การทำให้เช่นนั้นทำให้ตอกย้ำชื่อเสียงของการเป็น “คนแรก” ที่ได้ข่าวสำหรับข่าวใหญ่ สำหรับข่าวเล็กหรือข่าวทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวสามารถประกาศตัวตนของนักข่าวในการรายงานข่าวได้ (โดยเฉพาะใน twitter ที่ประกาศให้คนได้รู้ว่า นักข่าวคนนั้นกำลังทำอะไรอยู่) ซึ่งจะเป็นการดึงดูดให้มีผู้ติดตามเข้าไปอ่านรายงานข่าวนั้นบนเว็บไซต์ข่าว ตามอ่านในหนังสือพิมพ์ หรือชม/ฟังการรายงานข่าวผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์

  2. Draft (ข่าวร่าง) ขั้นตอนนี้คือการ “ร่างข่าว” หรือเขียนการรายงานข่าวแบบคร่าวๆ ซึ่งยังไม่ละเอียดพอที่จะตีพิมพ์หรือออกข่าววิทยุโทรทัศน์ได้ แต่เป็นขั้นตอนในการอัพเดทข้อมูลข่าวที่มีอยู่ในมือพร้อมๆ กับนำเสนอแบบ realtime ให้คนที่ติดตามได้รับทราบไปพร้อมๆ กัน ขั้นตอนนี้ เหมาะที่จะนำ “Blog” เข้ามาเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ นักข่าวทำอะไรบ้าง? ก็จดบันทึกข้อมูลข่าวที่ได้รับในขั้นตอน Alert ก่อนหน้า ร่างโครงร่างของรายงานข่าวชิ้นนั้น คล้ายๆ กับการรายงานของสำนักข่าวที่จะอัพเดทข้อมูลเพิ่มเติมเป็นระยะ เช่น ให้ข้อมูลชื่อ สถานที่ และรายละเอียดอื่นๆ รวมถึงแหล่งข่าว แหล่งที่มาข้อมูลด้วย เป็นการอัพเดททันที สดใหม่ ณ เวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือทันทีที่มีข้อมูลใหม่เข้ามาเพิ่มเติม การทำ Draft หรือข่าวร่างนี้ทำหน้าที่สำคัญในการดึงให้ผู้อ่านที่ได้รับข้อความเตือนข่าวในขั้น Alert ให้ยังติดตามการรายงานข่าวนั้นของนักข่าว / บก.ต่อไป นอกจากนั้น การใช้ Blog ยังช่วยเป็นการเผยแพร่ต่อ บอกต่อข่าวสารผ่านชุมชนคนออนไลน์บนบล็อก ดึงคนอ่านจำนวนมากขึ้นเข้ามาในเว็บไซต์หรือ Blog ของนักข่าว / บก. หรือของสำนักข่าว เป็นการกระตุ้น ranking ใน search engine ให้สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น นักข่าว / บก. คาดหวังได้ว่าจะดึงดูดให้ผู้อ่านที่มีความรู้หรือมีข้อมูลมาช่วยเพิ่มเติมข้อมูลหรือช่วยตรวจสอบข้อมูล รวมถึงอาจได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่นำไปสู่ประเด็นใหม่หรือต่อยอดประเด็นข่าวนั้น การอัพเดทอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำในขั้นตอนนี้ สามารถทำได้เช่น เชื่อมโยงไปสู่ข้อมูล หรือรายงานข่าวอื่นๆ ด้วยเช่นกันเพื่อให้ยังคงติดอันดับ Ranking ใน google news ซึ่งให้ความสำคัญกับรายงานที่อัพเดทใหม่ที่สุด มากกว่าข่าวแรกที่รายงานออกมา

  3. Article / Package (รายงานข่าว) ระหว่างการทำหน้าที่ในมิติเร็ว และ ลึกของสื่อออนไลน์ต่อการรายงานข่าว การเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยอยู่ในกระบวนการนี้ โดยสิ่งที่เป็นจุดแข็งของสื่อดั้งเดิมคือ การรายงานข่าวอย่างน่าเชื่อถือบนพื้นฐานของเอกสารข้อมูลสนับสนุนในพื้นที่และเวลาที่จำกัด สื่อดั้งเดิมสามารถทำได้ดีในงานให้ภาพและรายละเอียดข่าวที่กระชับชัดเจนตามที่ Paul Bradshaw เรียกว่า “snapshot’ เช่น ข่าวในความยาว 300 ตัวอักษร หรือ รายงานข่าว (package) ความยาว 3 นาทีในวิทยุหรือโทรทัศน์ เป็นจุดเด่นของสื่อดั้งเดิมที่น่าสนใจสำหรับผู้รับสาร ในกระบวนการนี้ การบรรณาธิกรข่าว หรือการตัดสินใจของกองบรรณาธิการในการคัดเลือกข่าว / ข้อมูลส่วนที่จะได้รับการนำเสนอ เป็นสิ่งสำคัญกว่าการไร้ขีดจำกัดของอินเตอร์เน็ต ในขั้นตอนนี้ Draft ที่ทำไว้ถูกพัฒนาให้สมบูรณ์เป็น “รายงานข่าว/สกู๊ปข่าว” (Package) ที่มีคุณค่าของการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ทั้งออนไลน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์ หรือจะนำเสนอผ่านทั้ง 3 สื่อก็ได้เช่นกัน

  4. Context (เพิ่มเติมข้อมูล) ขั้นตอนนี้กลับไปสู่ช่องทางสื่อออนไลน์อีกครั้ง โดยอาศัยธรรมชาติในเรื่องการไร้ขีดจำกัดของพื้นที่เป็นสำคัญในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม ข้อมูลสนับสนุน ข้อมูลต่อยอดที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้น นักข่าวถามตัวเองเพื่อหาคำตอบเพิ่มเติมในเรื่องดังนี้

a. เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

b. จะย้อนกลับไปอ่านรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ที่ไหน มีอะไรบ้าง

c. เรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีแนวคิด หรือ ความหมายของประเด็นข่าวนั้นอย่างไร

d. จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคลหรือองค์กรนี้ได้จากไหน

e. จะหาความช่วยเหลือได้จากที่ไหน

ขั้นตอนนี้ใช้ธรรมชาติของ “Hypertext” หรือการ Link ข้อมูลนั่นเอง นักข่าวสามารถ Link เอกสาร องค์กร และข้อมูลการอธิบายความในเรื่องต่างๆ อาจมาจากงานเก่าๆ ที่เคยทำของตัวเอง หรือจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ก็ได้ เป็นช่องทางในการจัดหาแหล่งข้อมูลที่จำเป็นต้องข่าวนั้น ข้อมูลจากนสพ.และวิทยุโทรทัศน์สามารถนำมา Link ได้เช่นกัน แต่ Paul Bradshaw แนะนำว่า ควรเน้นการเชื่อมต่อกับข้อมูลบนเครือข่ายออนไลน์ให้มาก

  1. Analysis / Reflection หลังจากมีการรายงานข่าวแล้ว สิ่งที่ควรตามมาคือ “การวิเคราะห์” สำหรับสื่อออนไลน์ หมายถึงการรวบรวมปฏิกิริยาตอบรับ ความเห็นแบบทันท่วงทีจากแหล่งต่างๆ ในชุมชนบล็อกโดยทั่วไป หรือจาก Blog หรือ forum ของนักข่าว / สำนักข่าว โดยรวบรวมจากทั้งผู้ที่ได้รับข้อมูลและผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ที่รายงานเรื่องนั้นอาจสะท้อนประสบการณ์ทั้งหมดผ่าน Blog ก็ได้ และอาจใช้ podcast ด้วยซึ่งดีมากสำหรับการอภิปรายและถกประเด็น จากจุดนี้นักข่าวจากนสพ.และวิทยุโทรทัศน์อาจได้ข้อมูลเพื่อไปทำเป็นข่าวในสื่อหลักได้ด้วยเช่นกัน

  2. Interactivity (ปฏิสัมพันธ์) ปฏิสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ต้องลงแรงแล้วก็ต้องเตรียมพร้อม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่เหนี่ยวแน่นและให้ข้อมูลกับผู้รับสารในแบบที่สื่อรูปแบบอื่นไม่สามารถทำได้ นอกจากนั้น ยังสามารถเป็นพื้นที่รวบรวมแหล่งข้อมูลจำนวนมากที่ได้จากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง Paul Bradshaw แนะนำเครื่องมือที่ใช้ได้ เช่น

a. การทำ Flash interactive อาจใช้เวลาหลายวันในการทำขึ้นมา แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมในการรวม hypertext, video, เสียง, animation และฐานข้อมูลไว้ด้วยกันและสามารถเลือกเข้าถึงข้อมูลได้แบบไม่หยุดนิ่ง (dynamic)

b. Forum หรือพวกเว็บบอร์ด เป็นพื้นที่สำหรับคนเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลกัน

c. Wiki : คือ การให้คนเข้ามาร่วมกันเขียนข้อมูล ร่วมกันรายงานประสบการณ์ ทำงานร่วมกันในการให้ข้อมูลระหว่างผู้รับสารทุกคนในการสร้างเนื้อหาร่วมกัน เช่น Wiki News

d. Live chats ผู้ใช้สามารถสื่อสารโดยตรงกับนักข่าว และ ผู้เชี่ยวชาญ

  1. Customisation ขั้นตอนสุดท้ายนี้ ควรทำให้เป็นเรื่องอัตโนมัติ นั่นคือให้อำนาจแก่ผู้รับสาร/ผู้ใช้ในการเลือกข้อมูลได้ตามความต้องการ สิ่งที่ง่ายที่สุดคือเลือกสมัครสมาชิก email, text หรือ RSS เพื่อรับข้อมูลอัพเดทได้ในเรื่องที่ต้องการ/เรื่องที่สนใจ มากไปกว่านั้นก็คือการมีบริการของ Social recommendation แนะนำว่าควรไปอ่านเรื่องอะไรต่อ หรือ มีเรื่องอะไรที่ใกล้เคียงให้สามารถ click ไปอ่านได้ (นึกภาพเวลาเราเข้าไปซื้อของใน amazon.com แล้วจะมี แนะนำว่า คนอ่านหนังสือนี้ มักเลือกอ่านหนังสือเหล่านี้ด้วย) หรือ การใช้ database-drivenคือการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลเพื่อให้สามารถสืบค้น ค้นคว้าได้

ตัวอย่างการทำข่าวตามโมเดลนี้

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พม่าและมีผลกระทบต่อจังหวัดเชียงรายของไทย

  1. Alert: “เกิดเหตุแผ่นเดินไหว…..” รายงานสั้นๆ ผ่าน SMS / Twitter / Facebook อาจมีการทำ link เชื่อมโยงไปที่เนื้อข่าวสั้นของเว็บไซต์ข่าวด้วยก็ได้

  2. Draft: ให้รายละเอียดเพิ่มเติม พิกัดที่ได้รับผลกระทบ ข้อมูล แหล่งข่าวให้สัมภาษณ์ ผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้ได้รับผลกระทบ โพสต์ข้อมูลเหล่านี้ผ่าน Blog / Facebook และอัพเดทข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มต่อเนื่อง ทำในลักษณะของ Live Blog เปิดพื้นที่ comment ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล อภิปราย มีการ Link ไปสู่ blog หรือ เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเพื่มเติม ติดตามดู comment ที่มาโต้ตอบกับเรา ดูว่ามีข้อมูลใดที่สามารถนำไปต่อยอด หรือ หาข้อมูลเพิ่มเพื่อรายงานข่าวที่รอบด้านมากขึ้นได้

  3. Article: จากข้อมูลที่นักข่าวรวบรวมได้ + ข้อมูลจาก comment ที่ได้มาใน Blog ซึ่งตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง รวมเป็นข่าว / รายงานลงสื่อหลัก

  4. Context: ดึงเอา link ข้อมูลที่น่าสนใจจาก comment ที่มาตอบโต้ใน blog / ถ้ามีการแถลงข่าว มีข้อมูลสถิติ มีการให้ความเห็นจากนักวิชาการ มีกราฟฟิกแผนที่ ผลกระทบ file เสียง clip video ที่เกี่ยวข้อง ก็ทำ Link เชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้คนอ่านไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ (อย่าลืมติด tag เดียวกันให้กับเนื้อหาเพื่อให้รวมเป็นกลุ่มและค้นหาได้ง่าย

  5. Analysis: นักข่าว / บก. เขียนวิเคราะห์มุมมองเฉพาะเกี่ยวกับข่าวนั้นเพื่อเจาะลึกให้ข้อมูลมากขึ้น หรืออาจทำเป็น podcast ให้ expert มาอภิปรายกันเกี่ยวกับผลกระทบแผ่นดินไหว แนวแผ่นดินไหวที่กระทบไทย เป็นต้น

  6. Interactivity: เชิญให้คนที่เข้ามาติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ของเรามีส่วนร่วม เช่น ถามคำถาม แชร์ข้อมูล และแสดงความเห็นต่อประเด็นต่างๆ

  7. Customisation: ทำ RSS feed / email alert เตือนผู้อ่านเมื่อมีเรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเกิดขึ้น หรือ มีข้อมูลอัพเดทเพิ่มเติม

จากแนวคิดเหล่านี้ Paul Bradshaw ยังเสนอด้วยว่า จากเดิมที่เราบอกว่า การทำข่าวคือ การทำงานแบบปิรามิดหัวกลับนั้น ในยุคใหม่ที่มี new media มาเกี่ยวข้อง ข่าวไม่ใช่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ขององค์กรสื่อ แต่เป็นกระบวนการ ที่ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ของข้อมูลแบบไม่มีวันจบสิ้น โดยเขาเรียก Model นี้ว่า “News Diamond”

นอกจากนี้ Paul Bradshaw ยังบอกว่าด้วย จากสภาพแวดล้อมของการบริโภคข่าวสารที่เปลี่ยนไป ได้แก่

  • ข้อมูลที่มากขึ้นจนแถบล้น / โลกข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานองค์กรต่างๆ สามารถให้ข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งสื่อเท่านั้น / โลกที่ผู้รับสาร สาธารณชน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เอง สร้างเนื้อหาได้เอง โดยไม่ต้องพึงข้อมูลจากสื่ออย่างเดียวอีกต่อไป

ทำให้การทำงานของนักข่าวต้องปรับตัว โดยเฉพาะ การหาแหล่งข่าวที่แตกต่างไปจากเดิม หรือนอกเหนือจากแหล่งข่าวหลักที่เคยใช้ ควรมีแหล่งข่าวอื่นๆ ที่สามารถให้มุมมองที่แตกต่างไปได้ด้วย (Dominic Ponsford)

Paul Bradshaw บอกว่า นักข่าวต้องปรับตัวเองให้ “อยู่เหนือเนื้อหา” (Above the content) หมายความว่า

  • เนื่องจากผู้อ่านสามารถเข้าถึงข้อมูลขององค์กร หน่วยงานต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ได้เอง ดังนั้น นักข่าวไม่ได้สามารถทำหน้าที่เอาข้อมูลมาให้เท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบ รวบรวม ปฏิกิริยาจากชุมชนออนไลน์ จาก Blogger และจากแหล่งข่าวอื่นๆ นักข่าวต้องสอบถามแหล่งข่าวให้มากขึ้น เจาะลึก สืบสวนเรื่องราวที่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่หรืออธิบายให้มากขึ้น

  • ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็น วิเคราะห์ และรายงานข่าวนั้นได้เองผ่านสื่อออนไลน์ ดังนั้น นักข่าวจำเป็นต้องทำตัวเองให้เป็นคนจัดการดูแลชุมชนออนไลน์นั้น เพื่อ บริหารเนื้อหาข้อมูลที่เกิดขึ้น อธิบายง่ายๆ คือ ทำหน้าที่เชื่อมโยง bloggers และ แหล่งข้อมูลมารวมกัน สร้างช่องทางในการรวมตัว การส่งผ่านข้อมูล และการระบบความร่วมมือกัน อีกอย่างที่สำคัญคือการทำ crowdsource ระดมข้อมูลของเรื่องจากกลุ่มผู้อ่าน / ชุมชนออนไลน์ที่ติดตามนักข่าวอยู่

สรุปง่ายๆ จากสิ่งที่ Paul Bradshaw ต้องการบอกเราตรงนี้คือ

สิ่งที่นักข่าวต้องรู้คือ นักข่าวไม่ใช่ผู้ควบคุมการให้ข้อมูลเพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่ทุกคนสามารถเป็นผู้ให้ และ ผู้รับได้ในเวลาเดียวกัน นักข่าวต้องใช้ช่องทางของสื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ในการ รวบรวม เชื่อมโยง หาข้อมูล ต่อยอดประเด็น โดยเฉพาะการสร้างการปฏิสัมพันธ์ และสร้างชุมชนออนไลน์จากผู้ที่ติดตามตัวเอง และบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารที่ไหลไปมาอยู่บนสื่อออนไลน์ให้สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการทำข่าว ซึ่งควรเป็นข่าวที่มากกว่ารายงานว่าอะไรเกิดขึ้น มีมุมมองที่ลึก เฉพาะมากขึ้น จะทำให้คนอ่านยังจำเป็นต้องรับสารนั้นจากผู้สื่อข่าว / สำนักข่าวอยู่ ถ้าแค่รายงานสิ่งเดียวกับที่ผู้อ่านรับได้โดยตรงจากแหล่งข่าวเช่นเดียวกัน คุณค่าของข่าวนั้นก็หมดไป

Paul Bradshaw เรียกการทำงานข่าวลักษณะนี้ว่า distributed journalism ซึ่งหมายถึง การให้ข้อมูลบางอย่างไปเพื่อนำมาซึ่งการสร้าง “ชุมชน” (Community) มันคือการสร้างสัมพันธ์ สร้างกลุ่มผู้ติดต่อที่ไม่ใช่แค่ list ติดต่อ แต่เป็นกลุ่มที่สามารถติดต่อ แลกเปลี่ยน และให้ข้อมูลซึ่งกันและกันได้ นักข่าวจึงจำเป็นต้องเข้าใจ “ชุมชน” ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา / หรือติดตามนักข่าวอยู่ / และชุมชนออนไลน์อื่นๆ บนโลกอินเตอร์เน็ต / รวมถึงชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น บางครั้งชุมชนนั้นก็อาจเป็นตัวนำนักข่าวก็ได้ นั่นหมายถึง นักข่าวต้องรู้วิธีการสร้างเครื่องมือและระบบ รวมถึงรู้ว่าจะสร้างเรื่องราวจากชุมชนได้อย่างไรด้วย

สรุปเกี่ยวกับ Distributed Journalism[1] ตามแนวคิดของ Paul Bradshaw

  1. ใช้เทคโนโลยีในการจัดการ “ผู้ให้ข้อมูล” (Contributor)

a. จากเดิมที่ใช้แหล่งข่าวจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นหน้าเดิมๆ อยู่ในกลุ่มของคนที่เป็นที่รู้จัก เป็น Elite ของสังคมอยู่แล้ว นักข่าวต้องมองหาแหล่งข่าวอื่นๆ ผ่านการใช้ New Media ซึ่งเป็นที่ๆ สามารถรวมคนที่หลากหลายมาเจอกันได้ เพื่อให้ได้แหล่งข้อมูลจากคนนอกวงที่พัฒนาความรู้ ความชำนาญ และมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับเช่นกัน ดังนั้น “ผู้เชียวชาญ” (expert) ไม่ได้หมายถึง เพียงคนที่มีสังกัดองค์กร หน่วยงานต่างๆ เท่านั้น แต่อาจเป็น expert ที่มาจากผู้มีประสบการณ์ตรง หรือ ผู้ที่มีข้อถกเถียงที่มีข้อมูลสนับสนุนเป็นอย่างดี นักข่าวทำอย่างไร? ก็ติดตามคนกลุ่มนี้ เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล มีการอ้างอิงจากคนเหล่านี้ และอาจพัฒนาไปถึงขั้นให้เป็นนักวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ให้

b. ผู้รับสารก็เช่นกัน New Media เอื้อเครื่องมือมากมายให้พวกเขาสามารถแสดงความเห็น ทำสื่อของตัวเอง เล่าเรื่องที่ตัวเองรู้ หรือมีประสบการณ์ได้ นักข่าวติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เลือกการเปิดช่องทางให้ได้นำข้อมูลหรือสิ่งที่ผู้อ่านเหล่านั้นสร้างขึ้นมาใช้กับงานข่าว พร้อมต้องอ้างอิงกลับไปหาแหล่งข้อมูลเหล่านั้นด้วย

c. คนทั่วไปอาจเข้าถึงข้อมูล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากกว่าที่นักข่าวทำได้ ดังนั้น นักข่าวจงรับฟัง ติดตาม และทำตัวเป็นผู้รับสารที่รับเรื่องราวต่างๆ จากคนทั่วไปด้วย เพื่อกรอกหาข้อมูลที่จะสามารถนำมาใช้ หรือ หาคนที่จะมาเป็นแหล่งข่าว หรือร่วมมือในการทำงานข่าวได้

d. และอย่างลืมคนที่ไม่ได้อยู่บนอินเตอร์เน็ต คนเหล่านั้น นักข่าวก็ต้องให้ความสำคัญ ให้พื้นที่ในการได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทำข่าวด้วยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

  1. ระบบที่จะทำให้เกิดความสะดวกในการร่วมให้ข้อมูล

a. Accidental journalist คือคนที่บังเอิญได้เจอเรื่องที่เป็นข่าว หมายถึง citizen journalist นั่นเอง องค์กรข่าวต้องหาวิธีการสร้างความร่วมมือกับนักข่าวอาสาเหล่านั้น à user-generated content สร้างเครือข่ายร่วมกับนักข่าวอาสา มีการอบรมสร้างความเข้าใจตรงกัน มีแรงจูงใจในการส่งข่าวเข้ามา เป็นต้น

b. The Value adder เป็นคนตรวจสอบข้อมูล คัดเลือกข้อมูล ทำอธิบายประกอบ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ความเห็น link ที่มีประโยชน์ เป็นต้น

c. Technician คนที่เอาเรื่องไปจัดกลุ่มประเภท คนที่ทำเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างสิ่งที่ กองบรรณาธิการจัดความสำคัญของวาระข่าวสาร กับสิ่งที่คนอ่านจริงๆ คนเหล่านี้เช่น คนที่สร้าง Facebook app / RSS feed เป็นต้น

d. Crowd: เดิมก็คือผู้รับสาร แต่ปัจจุบันคือคนที่นักข่าวโต้ตอบสื่อสารด้วย การทำ crowdsourcing เป็นวิธีการท่จะทำให้สามารถรายงานประเด็น หรือ ตรวจสอบเรื่องราวได้มากกว่า รอบด้านกว่า ในแบบที่การทำงานแบบสื่อดั้งเดิมทำไม่ได้ โดยทำให้ผู้รับสารกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรวบรวบข่าว (newsgathering) ของนักข่าว การทำ crowdsourcing มาจาก 2 ลักษณะคือ มาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะของกลุ่มคน / กลุ่มอาชีพ หรือ มาจากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราว นักข่าวทำ crowdsourcing อย่างไร ก็จากการตามดูข้อมูลต่างๆ จากการประกาศสอบถามข้อมูล หรือ จากการสัมภาษณ์ เครื่องมือที่ใช้ได้เช่น Wiki, forum เป็นต้น


เนื้อหาหลักใน Blog นี้ แปลมาจาก Blog onlinejournalismblog.com โดย Paul Bradshaw (a visiting professor at City University, London and part time Course Leader for the MA in Online Journalism at Birmingham City University.)

อ่านต้นฉบับได้ที่

A model for the 21st century newsroom: pt1 – the news diamond

A model for the 21st century newsroom pt2: Distributed Journalism

 

About Translator:

Sakulsri Srisaracam, lecturer at Faculty of Communication Arts, Dhurakij Pundit University, Thailand

Twitter: @imsakulsri

 

 

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.